หน้าแรก

อ้อย พืชไร่อีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ด้วยสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชหลากหลายชนิด ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบเรื่องการปลูกพืชไร่ พืชสวนที่หลากหลาย จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งครัวที่สำคัญของโลก สำหรับอ้อยเองก็มีส่วนสำคัญด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล มีชาวไร่ทั่วประเทศปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลัก สร้างความมั่นคงในครอบครัว อ้อยจึงเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่ขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทย

เมื่ออ้อยมีความสำคัญขนาดนี้ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจึงอยากให้มิตรชาวไร่ทุกท่านได้รู้ว่า ถิ่นกำเนิดของอ้อยแต่ละชนิดมาจากที่ไหน มีความเป็นมาอย่างไร กว่าจะมาเป็นอ้อยในไร่ของเราจนทุกวันนี้

มาเริ่มที่อ้อยปลูกดั้งเดิมกันค่ะ เป็นอ้อยที่เกิดแถบเกาะนิวกินี มีลักษณะลำใหญ่ ใบยาวและกว้าง  มีน้ำตาลมาก เปลือกและเนื้อนิ่มและมีสีสวย  ซึ่งเรารู้จักกันในนามของ "อ้อยเคี้ยว" เท่าที่มีอยู่ในบ้านเรา คือ อ้อยสิงคโปร์  อ้อยมอริเชียส (Mauritius) และอ้อยบาดิลา (Badila) ซึ่งชาวดัทช์ที่อยู่ในชวาสมัยก่อนเรียกอ้อยเหล่านี้ว่า โนเบิล เคน (noble cane) ต่อมาเรียกว่า เนทิฟ การ์เดน ชูการ์เคน (native garden sugarcane หรือ native sugarcane) เพราะชาวเกาะนิวกีนีปลูกไว้ในสวนเพื่อใช้รับประทานสด  อ้อยชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของโลกในสมัยเริ่มแรกเป็นอย่างมาก  อ้อยที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันก็สืบเชื้อสายมาจากอ้อยชนิดนี้ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงประวัติและถิ่นฐานดั้งเดิมของอ้อยจึงหมายถึงอ้อยชนิดนี้เสมอ

ต่อมาคืออ้อยป่าแถบร้อน เป็นอ้อยป่าซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบร้อนและชุ่มชื้น มีอยู่หลายร้อยชนิดแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด แต่มีลักษณะที่สำคัญคล้ายคลึงกัน คือมีอายุยืน ขึ้นอยู่เป็นกอ มีลำต้นใต้ดิน ลำต้นผอมและแข็ง ไส้กลวงมีความหวานน้อย ในประเทศไทยเรียกว่าแขมพง หรืออ้อยป่า (wild cane)

อ้อยอินเดีย  เป็นอ้อยที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนเหนือ นักวิชาการเชื่อกันว่าเป็นอ้อยที่เกิดจากการผสมตามธรรมชาติ  ระหว่าง S.officinarum และ S.spontaneum อ้อยพวกนี้มีลำต้นขนาดเล็ก ใบเล็ก ข้อโป่ง มีความหวานสูง เปลือกและเนื้อนิ่ม สันนิษฐานว่าอ้อยขาไก่ในประเทศเราอาจเป็นอ้อยจำพวกนี้

อ้อยป่านิวกีนี เป็นอ้อยป่าแถบเกาะนิวกินี เปลือกแข็ง ไส้ฟ่าม มีลักษณะลำต้นใหญ่ แข็งแรง อาจสูงถึง 10 เมตร มีความหวานต่ำ ชาวเกาะใช้ปลูกทำรั้ว อ้อยชนิดนี้พบว่ามีในประเทศไทย นักวิชาการเชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูลของอ้อยปลูกดั้งเดิม

ต่อมาอ้อยได้ถูกนำไปจากเกาะนิวกีนี โดยการติดต่อค้าขายและการล่าเมืองขึ้นของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการสันนิษฐานการแพร่กระจายของอ้อยจากนิวกินีไว้เป็นสามทางตามลำดับเวลา คือ

  1. ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่หมู่เกาะโซโลมอน นิวเฮบริดิส และนิวคาเลโดเนีย เกิดขึ้นนานนับจำนวนหมื่น ๆ ปีก่อนคริสต์ศักราช
  2. ไปทางทิศตะวันตกสู่หมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย แหลมมลายู ฟิลิปปินส์ อินโดจีน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตลอดถึงชายฝั่งแถบอ่าวเบงกอลประเทศอินเดีย การกระจายตัวด้านนี้เริ่มเมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช กว่าที่อ้อยจะกระจายจากนิวกินีไปถึงอินเดียนั้น ต้องใช้เวลาถึง 3,000 ปี  การกระจายตัวทางทิศตะวันตกนี้มีความสำคัญมาก เพราะได้ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาล จนมีความเจริญอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
  3. ไปทางทิศตะวันออกสู่เกาะต่าง ๆ คือ ฟิจิ ตองกา ซามัว คุก มาร์เคซัส โซไซเอตี อิสเทอร์ และฮาวาย รวมทั้งเกาะอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย การกระจายตัวตามทิศทางดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประมาณไม่เกิน 500 ปี หลังจากที่อ้อยถึงอ่าวเบงกอลแล้ว

ถิ่นกำเนิด-003.jpg

***ปรับรูปธงชาติ 4 วงกลมด้านบน ให้ตรงกับชื่อประเทศด้วยครับ***

นับว่าอ้อยเป็นพืชที่เกิดมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์เลยก็ว่าได้นะคะ ไม่น่าเชื่อว่าพืชชนิดนี้จะเดินทางมาไกลแสนไกล จนมาเป็นพืชไร่ทางเศรษฐกิจของไทยและของอีกหลายประเทศ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เลี้ยงดูลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น ต้องขอบคุณบรรพบุรุษของเราจริง ๆ นะคะที่นำพืชอย่างอ้อยเข้ามาในประเทศไทย อยู่คู่กับชาวไร่มาจนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูล-ภาพ

https://sites.google.com/

https://expatliving.hk/

https://www.gardeningknowhow.com/

 

ข่าวปักหมุด