โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบอ้อยและเศษซากอ้อยเกิดขึ้นจากการร่วมมือของสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนานั้น ได้รับการสนับสนุนจากโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล ในปี พ.ศ. 2566 ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอย่างยั่งยืนในพื้นที่ดังกล่าว โดยได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรในหลายด้าน เช่น การพัฒนาปัจจัยการผลิตสำหรับพืชผัก การเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร เช่น มะเขือเทศเชอรี่และกระเทียม การพํฒนาเหล่านี้ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
ในปี 2567-2568 ได้เริ่มโครงการใหม่กับเครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา มุ่งเน้นไปที่การนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ใบอ้อย เศษไม้ และฟาง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าโดยเฉพาะการพัฒนา “ถ่านอัดแท่ง” จากใบอ้อยและเถ้าชานอ้อย ซึ่งมีค่าความร้อนที่เหมาะสมสำหรับการใช้ในครัวเรือนหรือการใช้งานเชิงพาณิชย์
การพัฒนาถ่านอัดแท่งนี้เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยการศึกษาวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถ่านอัดแท่งที่มีคุณภาพสูง โดยเน้นการใช้วัสดุชีวมวลจากการเกษตรซึ่งปกติจะถูกเผาทิ้ง จนเกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5
ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ด้านการลดมลพิษจากการเผาใบอ้อยและชานอ้อยเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน การพัฒนาถ่ายอัดแท่งนี้ยังสามารถนำมาใช้ปรับปรุงดินเป็นถ่านชีวภาพ (Biochar) ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกพืชในอนาคต
ที่มาข้อมูล : วารสารมิตรชาวไร่