หน้าแรก

          เหลือเวลาอีกไม่นาน ฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อยหีบเข้าจะเริ่มขึ้นแล้ว เมื่ออ้อยเข้าสู่ระยะแก่และสุกเต็มที่ (maturity and ripening phase) การดูแลให้อ้อยเจริญเติบโตคงไม่จำเป็นเท่าการเตรียมตัวสำรวจเพื่อประเมินผลผลิตอ้อย เพราะอ้อยระยะนี้เป็นระยะที่มีอัตราการเจริญเติบโตช้าลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับระยะงอก แตกกอ และย่างปล้อง

          ปัจจุบันการสำรวจเพื่อประเมินผลผลิตอ้อยได้นำเทคโนโลยีของโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โครงการโดรนวัดความหวานอ้อย แพลตฟอร์มหุ่นยนต์และยานพาหนะไร้คนขับ สำหรับการเกษตรที่มีความแม่นยำ ภายใต้แผนงาน spearhead ด้านเศรษฐกิจ ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเอกชน ในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ ร่วมมือกับ บริษัท HG Robotics และ บริษัท Global crop ในการพัฒนาเทคโนโลยี

          การประเมินผลผลิตอ้อย (Field Practice Solutions : FPS) จะช่วยลดต้นทุน คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งโครงการ FPS นับเป็นการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อย มีราคาต้นทุนต่ำกว่าบริการคู่แข่งในต่างประเทศมากถึง 20 เท่า และมีความสามารถในการประเมินความหวานแม่นยำมากกว่าบริการปัจจุบันเพียงบวกลบหนึ่ง การนำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน มาพัฒนากับซอฟแวร์ภาพถ่ายดาวเทียมของเอกชน เพื่อวิเคราะห์ค่าความหวาน การเติบโตของพืช การวิเคราะห์โรคพืช โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลไร่อ้อยเป็นแสน ๆ ไร่ในเวลาอันรวดเร็วและแม่นยำ

          โดยเป้าหมายของโครงการ FPS จะให้บริการ 3 แบบด้วยกัน ซึ่งเป็นบริการที่สามารถจ่ายได้เป็นรายปีในเร็ว ๆ นี้ และจะมีข้อมูลส่งตรงไปยังมือถือ โดยบริการระยะแรกจะเป็น Farm Monitoring and Mapping Service (FMMS) คือ การให้บริการตรวจวัดสภาพไร่ด้วยภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน โดยตรวจวัด 4 ด้าน ได้แก่ ปริมาณผลผลิต ความหวาน โรคใบขาว และความต้องการปุ๋ยของอ้อย

การใช้โดรนบิน-003.jpg

          บริการระยะที่สองคือ Farm Robotic Solution Services (FRS) ในส่วนนี้จะเป็นบริการออกแบบและติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติของเครื่องจักรในแปลง และพัฒนา AI สำหรับสั่งการ

          และบริการระยะที่สามคือ Farm Business Intelligent Services (FBI) คือการใช้ระบบอัจฉริยะสำหรับวางแผนงานและปรับแผนงานตามสถานการณ์ปัจจุบันโดยอัตโนมัติ เช่น แผนการเก็บเกี่ยวและขนส่ง แผนการส่งเสริมการให้ปุ๋ย เป็นต้น

          ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีงานวิจัยที่กำลังพัฒนาโดยใช้พัฒนานวัตกรรม AI สำหรับการประเมินผลผลิตอ้อย (ตัน/ไร่) การตรวจสอบหาโรคใบขาวอ้อย และการตรวจวัดคุณภาพธาตุอาหารในดิน เพื่อการจัดการดูแลอ้อยตั้งแต่ก่อนปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย เพื่อให้ทางโรงงานจัดการคิวรถตัด รถบรรทุก สำหรับนำอ้อยส่งเข้าโรงงาน เพื่อให้ได้กำไรทั้ง เกษตรกร และโรงงาน

          มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่านวัตกรรรมเกษตรสมัยใหม่เหล่านี้จะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เข้ามามีบทบาทในไร่อ้อย และเชื่อว่าในอนาคต การนำนวัตกรรมการเกษตรเหล่านี้ไปใช้งานด้วยตัวเกษตรกรเองจะเป็นเรื่องไม่ไกลตัวอีกต่อไป

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ:

http://sugar-asia.com/

https://mgronline.com/

https://www.dronettc.com/

https://precisionagricultu.re/

ข่าวปักหมุด